แนะวิธีปั๊มนมและทำสต็อกน้ำนมเตรียมไว้ให้ลูกก่อนที่คุณแม่มือใหม่จะต้องกลับไปทำงาน

หลังจากลาคลอดครบ 3 เดือน คุณแม่ยุคใหม่หลายท่านต้องกลับไปทำงาน คุณแม่จึงต้องเริ่มวางแผนสต็อกน้ำนมแม่เพื่อเตรียมนมสำรองไว้ให้ลูกในช่วงที่แม่ไม่ได้อยู่ให้นมด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่จะมารับหน้าที่ดูแลลูกน้อยแทนคุณแม่ระหว่างที่ต้องกลับไปทำงานให้สามารถนำนมแม่มาป้อนให้กับลูกแทนได้ ที่สำคัญการปั๊มน้ำนมสำรองเก็บไว้ยังถือเป็นตัวช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมของคุณแม่ให้มากขึ้นเหมือนกับการให้ลูกดูดกระตุ้น ทั้งยังช่วยลดอาการเจ็บปวดคัดตึงเต้านมได้เป็นอย่างดี ซึ่งการสต็อกนมแม่นั้นจะมีขั้นตอนสำคัญอยู่ที่การปั๊มและจัดเก็บ เรามาดูไปพร้อมๆกันเลยค่ะ

วิธีการปั๊มนมอย่างถูกต้อง

สำหรับเครื่องปั๊มนมที่คุณแม่จะเตรียมไว้นั้น ทางเราแนะนำให้ใช้เครื่องปั๊มนมแบบไฟฟ้าหรือเครื่องปั๊มแบบอัตโนมัติ เนื่องจากใช้งานได้ง่าย ปั๊มนมได้รวดเร็วกว่าและยังได้ปริมาณน้ำนมมากกว่าเครื่องปั๊มน้ำนมแบบธรรมดา (Manual) เหมาะสำหรับการปั๊มนมในระหว่างการทำงาน อย่างไรก็ตามในการปั๊มนมคุณแม่ควรปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ ได้แก่
• ล้างอุปกรณ์ปั๊มนมให้สะอาดพร้อมนึ่งให้เรียบร้อยเหมือนกับการล้างทำความสะอาดขวดนม
• ก่อนเริ่มปั๊มนมจะต้องล้างมือของแม่ให้สะอาด
• วางกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมบนหัวนมโดยให้กรวยอยู่ในตำแหน่งกลางหัวนม
• ประคองเต้านมด้วยมือข้างเดียวเพื่อให้เต้านมอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตลอดช่วงปั๊มและไม่ควรออกแรงดันหัวนมใส่กรวยเต้ามากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดรอยที่ผิวของเต้านมได้ คุณแม่ต้องจำไว้ว่าการปั๊มนมอย่างถูกวิธีจะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บขณะปั๊ม หากเกิดอาการผิดปกติขึ้นต้องรีบตรวจสอบว่ากรวยเต้าที่ใช้กับเครื่องปั๊มนมนั้นมีขนาดถูกต้องหรือไม่
• ค่อย ๆ ปรับความเร็วในการปั๊มนมเพิ่มขึ้นเมื่อน้ำนมเริ่มไหลอย่างคงที่
• เวลาในการปั๊มนมต่อครั้งควรอยู่ที่ 15 - 20 นาที เมื่อได้น้ำนมเรียบร้อยก็ค่อย ๆ นำกรวยออกจากเต้า จากนั้นให้รีบนำน้ำนมที่ได้เก็บใส่ถุงซิปล็อกปิดให้สนิทพร้อมเขียนวันที่ปั๊มนมไว้หน้าถุงให้เรียบร้อย และนำไปใส่ในตู้เย็นทันทีเพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
โดยทั่วไปแล้วคุณแม่มือใหม่จะพยายามปั๊มน้ำนมออกจากเต้าเมื่อมีอาการคัดนมหรือรู้สึกว่าน้ำนมล้นเต้า เมื่อลูกยังหลับอยู่ก็จะปั๊มนมออกมาเพื่อลดอาการเจ็บปวดดังกล่าวแต่ในกรณีที่ต้องการจัดทำสต็อกนมเก็บไว้ให้ลูก คุณแม่ควรกำหนดเวลาปั๊มที่ชัดเจนเป็นตารางปั๊มนมประจำวันโดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
• คุณแม่ควรปั๊มนมให้ได้ประมาณ 8 - 10 ครั้งต่อวัน เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนครั้งที่ลูกดูดนมในแต่ละวัน แต่หากไม่สะดวกในการปั๊มนมได้บ่อย ๆ สามารถใช้วิธีการแบ่งคร่าว ๆ ว่าใน 24 ชม. หรือ 1 วัน จะปั๊มนมกี่ครั้ง เช่น บางคนปั๊ม 1 ครั้งในช่วงเช้า 1 ครั้งในช่วงบ่ายและอีก 1 ครั้งในช่วงกลางคืนก็ได้
• ในกรณีที่คุณแม่ตื่นนอนก่อนลูกช่วงเช้าให้รีบปั๊มนมออกจากเต้า 1 ข้าง เก็บไว้เป็นสต็อก ส่วนน้ำนมที่เหลือในเต้าอีกข้างเก็บไว้ให้ลูกดูดตอนตื่น หากไม่พอให้ลูกมาดูดเต้าด้านที่ปั๊มนมไปแล้วเพิ่มเติมจนเกลี้ยงเต้าแล้วสลับมาอีกด้านเพื่อกระตุ้นเพิ่มเติม
• การปั๊มนมแต่ละครั้งจะต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้าหรือไม่มีน้ำนมเหลือ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ในปริมาณเพิ่มขึ้นและในกรณีที่คุณแม่สามารถปั๊มนมได้ตามเป้าในแต่ละวันแล้วก็ค่อย ๆ ลดจำนวนครั้งที่จะปั๊มนมในแต่ละวันลงโดยที่ปริมาณน้ำนมที่ได้จะต้องอยู่ในระดับเดิม ซึ่งคุณแม่ต้องพยายามจดบันทึกปริมาณน้ำนมที่ได้ในแต่ละวันเก็บไว้ด้วย
• หากการปั๊มน้ำนมได้ในปริมาณที่น้อยลงกว่าปกติคุณแม่ต้องพยายามหาตัวช่วยผ่อนคลายในขณะปั๊มนม เช่น ลองนวดเต้านม ประคบนมหรือดื่มน้ำอุ่นให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น

การจัดเก็บสต็อกน้ำนมแม่

เป็นอีกขั้นตอนสำคัญหลังปั๊มนมเสร็จโดยน้ำนมที่ได้มาควรจัดเก็บในภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท ทั้งในขวดแก้ว ขวดพลาสติกหรือถุงซิปล็อกปลอดสาร BPA จากนั้นต้องเขียนรายละเอียดวัน / เวลาที่ปั๊มน้ำนมก่อนจะนำไปเรียงจัดเก็บตามวันเวลาที่ปั๊มนมได้ในตู้เย็นหรือเก็บในช่องแช่แข็ง โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่จะต้องนำน้ำนมออกมาใช้คือ
• หากต้องการเก็บรักษาน้ำนมไว้ไม่เกิน 6 เดือน ควรแช่ไว้ในช่องแช่แข็ง
• หากจะนำมาใช้ในช่วง 3 - 8 วัน สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาได้
• หากเตรียมจะใช้นมในช่วง 24 ชม.หลังจากปั๊มได้สามารถเก็บในกระเป๋าเก็บความเย็นที่มีถุงน้ำแข็ง
• หากจะใช้ในเวลาไม่เกิน 6 ชม.หลังปั๊มออกมาจากเต้าสามารถวางไว้ในห้องอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสได้ ในกรณีที่จะนำน้ำนมที่เก็บสต็อกไว้ในช่องแช่แข็งออกมาป้อนให้กับลูกน้อยให้สังเกตที่วัน – เวลาเก็บน้ำนม โดยสต็อกที่ปั๊มได้ก่อนควรนำออกมาใช้ก่อนและก่อนจะนำนมในสต็อกมาป้อนให้กับลูกน้อย จะต้องละลายน้ำแข็งด้วยการนำไปแช่ไว้ในน้ำอุ่นหรือน้ำร้อนราว 10 - 15 นาที ก่อนเทนมใส่ขวดแล้วนำไปป้อนให้ลูกกินโดยจะต้องทดสอบอุณหภูมิก่อนว่าร้อนเกินไปหรือไม่ ด้วยการเหยาะนมลงบนหลังมือ ทั้งนี้ไม่ควรละลายนมที่เป็นน้ำแข็งด้วยการอุ่นในไมโครเวฟเพราะจะทำให้คุณค่าของสารอาหารที่อยู่ในน้ำนมหายไป

ลูกกินนมแม่แล้วจะมีอาการแพ้ได้หรือไม่ ?

แม้ว่าลูกน้อยจะกินนมแม่เพียงอย่างเดียวก็ยังมีโอกาสเกิดความผิดปกติเหมือนกับ อาการแพ้นมเด็ก ได้เช่นเดียวกับการกินนมผสมหรือนมชง ซึ่งคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ทั้งอาการทางระบบทางเดินอาหาร คือ ท้องอืดท้องเฟ้อ ถ่ายเหลว อาการทางระบบหายใจ เช่น มีน้ำมูก หายใจไม่สะดวกและอาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นคัน ผิวแดงถลอก เป็นต้น อาการเด็กแพ้นมแม่ เหล่านี้มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากอาหารที่แม่รับประทานมีส่วนผสมบางอย่างที่ทำให้ลูกมีอาการแพ้ เช่น โปรตีนในนมวัว ซึ่งมีอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารหลายประเภท อาทิ เบเกอรี่และไอศกรีม เป็นต้น เมื่อคุณแม่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมเหล่านี้ร่างกายจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปสร้างเป็นน้ำนมและเมื่อลูกกินนมแม่ทั้งการกินจากเต้าและนมที่ทำสต็อกเก็บไว้ก็จะเกิด อาการเด็กแพ้นมแม่ ตามมาได้ ดังนั้นคุณแม่ที่อยู่ระหว่างให้นมลูกและทำสต็อกน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกจึงต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินและคอยสังเกตอาการแพ้ของลูกด้วย อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่สามารถจัดการสต็อกนมแม่ไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลูกไม่มีปัญหาแพ้นมก็จะสามารถบริหารจัดการให้ลูกกินนมแม่ได้ต่อเนื่องเป็นเวลานานนับปี ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อลูกน้อยเองเนื่องจากนมแม่นั้นถือเป็นสุดยอดอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย

บทความที่คุณน่าจะชอบ

ลูก ๆ ของเราทานอะไรกันบ้าง?
'การเลี้ยงลูก 9/10/2020

โภชนาการสำหรับเด็กวัยหัดเดิน

คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยว่า ทำไมในกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองถึงไม่ค่อยคุยกันเรื่องอาหารการกินของลูกๆ มากนักทั้งๆ ที่เรื่องสารอาหารและโภชนาการที่ครบถ้วนเป็นนั้นสำคัญมาก

“ภัยเงียบ” ในกลุ่มเด็กเล็ก
'การเลี้ยงลูก 5/13/2021

รู้จัก 3 โรคฮิต “ภัยเงียบ” ในกลุ่มเด็กเล็กที่พ่อแม่ควรระวัง

ในช่วงที่ลูกยังเป็นทารกหรือเป็นเด็กเล็กนั้น ถือว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย บทความนี้เราจึงได้รวบรวม “โรคฮิต” มีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

การขึ้นของฟันทารก
'การเลี้ยงลูก 6/26/2020

ประโยชน์ของการให้เด็ก ๆ มีสัตว์เลี้ยงในบ้าน

เด็กและสัตว์เลี้ยงสามารถสร้างความสัมพันธ์สุดมหัศจรรย์แก่กันและกันได้ รวมถึงมีความผูกพันที่แสนพิเศษ เรามีคำแนะนำดีๆ มาฝากกันค่ะ

บทความที่คุณน่าจะชอบ