เด็กวัย 6 เดือน

เผลอเดี๋ยวเดียวเวลาก็ผ่านไปครึ่งปีแล้วนับจากวันที่ลูกน้อยลืมตาขึ้นดูโลก แม้คุณแม่จะตั้งอกตั้งใจดูแลลูกรักให้ดีที่สุดในทุกๆ วัน แต่บางครั้งก็อาจรู้สึกว่าตารางชีวิตแน่นเกินกว่าจะหยุดพักและนึกถึงความชื่นใจของการเป็นแม่ ดังนั้น ลองหาเวลาเล่นกับลูก มอบความรักความอบอุ่นที่มีคุณค่าที่สุดให้แก่ดวงใจดวงน้อยของคุณ ในช่วงเวลาเงียบๆ แบบที่ไม่ต้องรีบร้อนไปไหน

เด็กวัย 6 เดือนนี้ เป็นช่วงวัยที่เหมาะสมที่คุณแม่จะอุ้มลูกใส่รถเข็นเด็กแล้วพาออกไปข้างนอกบ้านบ้าง ลองพาลูกไปเดินเล่นแล้วพูดคุยกับเขาว่าคุณเห็นอะไรตามข้างทาง อย่ากีดกันไม่ให้ลูกออกมาเจอโลกภายนอก และให้รู้สึกดีกับสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ คุณแม่คือครูคนแรกที่สำคัญต่อลูกน้อยมากที่สุด และเด็กๆ จะเห็นว่าโลกใบนี้ปลอดภัยน่าอยู่เพียงไร ก็ด้วยการเรียนรู้ผ่านคุณครูคนแรกนี่เอง

การทานอาหารและการนอนหลับ
ลูกน้อยวัย 6 เดือนส่วนใหญ่จะเริ่มพร้อมหม่ำอาหารเสริม เด็กบางคนอาจพร้อมก่อนวัยและเริ่มเคี้ยวอาหารเสริมได้บ้างแล้ว เมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน ธาตุเหล็กที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดาจะเริ่มร่อยหรอและถึงเวลาต้องเติมใหม่อีกครั้ง นมแม่มีปริมาณธาตุเหล็กต่ำ ดังนั้น ซีเรียลจากข้าวเสริมธาตุเหล็กจึงเป็นอาหารเสริมชนิดแรกๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำให้ป้อนเด็ก แต่เจ้าตัวน้อยหลายๆ คนอาจไม่โปรดปรานรสชาติของมันนัก ให้ลองผสมเนื้อผลไม้ เช่น แอปเปิ้ลหรือลูกแพร์ที่ไม่หวานนักลงไปในซีเรียลเพื่อปรุงแต่งรสชาติให้น่าหม่ำยิ่งขึ้น โดยให้ลูกดื่มนม ซึ่งเป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญอันดับหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยป้อนอาหารเสริมตาม

ลูกน้อยวัยนี้ยังต้องการนอนหลับครั้งละ1-3 ชั่วโมง รวม 3 ครั้ง ในช่วงกลางวัน และประมาณ 10 ชั่วโมงในช่วงกลางคืน แม้ตัวเลขนี้จะดูมากจนน่าตกใจ โดยเฉพาะสำหรับเจ้าตัวน้อยที่ดูไม่ค่อยอยากจะหลับสักเท่าไรก็ตาม ให้คุณแม่ลองกล่อมลูกด้วยเทคนิคเดียวกับที่ใช้กล่อมช่วงกลางคืน หากคุณพ่อคุณแม่กล่อมลูกอย่างสม่ำเสมอและสงบนิ่งอยู่ได้ จะช่วยปลูกฝังนิสัยให้ลูกน้อยนอนหลับสนิทได้

พฤติกรรมของลูกน้อย
ลูกน้อยวัยนี้จะคิดว่าตัวเองฉลาดสุดๆ เมื่อเล่นเป่าน้ำลาย หรือส่งเสียงจากลำคอได้สำเร็จ เจ้าตัวน้อยบางคนจะชอบใช้มือป่ายใบหน้าคุณพ่อคุณแม่ หรือแม้กระทั่งดูดจมูกหรือแก้ม หากลูกน้อยมีพฤติกรรมเช่นนี้ให้ดีใจได้เลยว่า ลูกกำลังเรียนรู้สิ่งรอบตัวผ่านปากน้อยๆ ของเขาอยู่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินเหตุเกี่ยวกับความสะอาด และไม่ควรห้ามลูกนำของเข้าปากไปเสียทุกอย่าง เพราะหลังจากเริ่มทานอาหารเสริมแล้ว เขาจะเริ่มทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุทุกชนิด ซึ่งในบางครั้งอาจไม่ถึงกับปลอดเชื้อหรือสะอาดเท่าที่ควร

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ได้เริ่ม ลองหันมาอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวันดู แล้วคอยสังเกตเวลาคุณเปิดรูปสีสวยๆ หรือชี้ภาพเดิมๆ ให้เขาดู พูดคุยกับลูกให้สนุกสนานโดยไม่ต้องกังวลใจอะไร เพราะเจ้าตัวน้อยตรงหน้าย่อมไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรคุณอยู่แล้ว

เมื่อคุณหัวเราะกับลูกน้อย ลูกก็จะหัวเราะตอบ คุณแม่จะเริ่มสังเกตได้ว่า ลูกน้อยชอบเล่นแบบไหนและเขาจะรอดูว่าผู้ใหญ่จะทำอะไรต่อไปขณะเล่นกับเขา อย่างไรก็ดี ความอดทนในการเล่น และปฏิกริยาโต้ตอบของลูกน้อยจะกินเวลาแค่ช่วงสั้นๆ โดยคุณแม่จะดูออกเองว่าเมื่อใดที่ลูกเบื่อและไม่อยากเล่นแล้ว การเลิกจ้องมอง การมองไปทางอื่น และเริ่มโยเย คือสัญญาณที่บอกว่า ถึงเวลาต้องเลิกเล่นและอุ้มเขาออกไปเปลี่ยนบรรยากาศ การรู้ว่าเมื่อไรควรหยุดเล่นสำคัญพอๆ กับการเริ่มเล่นหยอกล้อกับลูก พยายามใส่ใจสัญญาณจากลูกน้อย เพราะการตอบสนองของคุณพ่อคุณแม่ถือเป็นบทเรียนแรก ที่สอนให้ลูกน้อยรู้จักพัฒนาความรู้สึกร่วมเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

พัฒนาการของลูกน้อย
ในวัยนี้ ขาของลูกจะเริ่มรับน้ำหนักได้ช่วงสั้นๆ แล้ว แม้คุณแม่จะยังต้องจับมือลูกแน่นๆ ขณะลูกหัดทรงตัวก็ตาม การเรียนรู้การทรงตัวต้องอาศัยเวลาและการฝึกฝน ลองสังเกตความตั้งอกตั้งใจของลูกน้อยดู เดือนนี้เป็นช่วงที่เจ้าตัวน้อยส่วนใหญ่จะเริ่มหัดนั่งเองได้บ้าง ลูกจะเรียนรู้ในการกลิ้งตัวไปด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้างคุณแม่จึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าเจ้าตัวเล็กดูไม่สนใจที่จะนั่งเอง ก็ไม่ต้องไปฝืนใจ เพราะเด็กๆ บางคนจะไม่ยอมหัดนั่งเองจนกว่าเขาจะคลานเป็น เมื่ออายุได้ 8-9 เดือน

คุณแม่อย่าลืมสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเหงือกลูก เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น ซึ่งโดยมากแล้วฟันซี่แรกที่ขึ้นมักเป็นฟันหน้าแถวล่าง (ซี่กลาง) เมื่อฟันลูกขึ้นได้ 1-2 ซี่แล้ว คุณแม่ควรทำความสะอาดฟันลูกเป็นประจำทุกวัน ด้วยแปรงสีฟันสำหรับเด็กที่มีขนแปรงอ่อนนุ่มและชุบน้ำให้ชุ่ม

เจ้าจอมซนจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วว่านิ้วเล็กๆ แต่ละนิ้วนั้นควบคุมได้ แต่ในวัยนี้ การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กยังไม่พัฒนาถึงจุดที่ใช้หยิบจับสิ่งของได้ดั่งใจ คุณพ่อคุณแม่จึงมักจะเห็นเจ้าตัวน้อยกวาดหรือเขี่ยสิ่งของเข้ามาอยู่ในอุ้งมือ หนูน้อยจะใช้ทั้งสองมือพอๆ กัน จนกว่าใกล้วัยเข้าเรียน เด็กๆ ถึงจะแสดงให้เห็นว่าเขาถนัดมือไหนมากกว่ากัน

ความเจริญเติบโตของลูกน้อยลูกน้อยวัยนี้จะมีน้ำหนักตัวเป็นสองเท่าจากเมื่อแรกเกิด ยกเว้นกรณีที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีปัญหาเรื่องการเพิ่มน้ำหนัก ศีรษะของลูกจะยังคงมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของร่างกายโดยรวม แต่จะดูสมส่วนมากกว่าเมื่อแรกเกิด หากคุณแม่สังเกตว่า ด้านหลังศีรษะของลูกน้อยค่อนข้างแบน ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กอ่อน หรือเปลี่ยนท่านอนของลูก โดยเปลี่ยนให้เขานอนคว่ำบ้าง และคอยดูบ่อยๆ ว่า ลูกไม่ได้นอนท่าเดิมติดต่อกันนานเกินไป

การส่งเสริมสุขอนามัยลูกน้อย
เดือนนี้ลูกรักจะครบกำหนดรับวัคซีนรอบที่ 3 แล้ว คุณแม่จึงควรนัดหมายกับคุณหมอให้เรียบร้อย หลังจากลูกรับวัคซีนแล้ว ให้เขาได้พักผ่อนและไม่ต้องเน้นกิจกรรมมากในวันนั้น แม้ว่าอาการข้างเคียงจากการรับวัคซีนจะไม่ค่อยมีให้พบนัก แต่เด็กบางคนก็อาจมีอาการหงุดหงิดงอแงได้เช่นกัน

เด็กทารกหลายรายจะเป็นหวัดครั้งแรกเมื่ออายุได้ 6 เดือน ประสบการณ์ลูกป่วยครั้งแรกย่อมทำให้คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวลและรู้สึกใจไม่ดีได้ จึงไม่แปลกอะไรที่จะพาลูกไปหาคุณหมอ ให้เชื่อสัญชาติญาณของตัวเองว่าเมื่อใดควรพาลูกไปหาหมอ ลักษณะการกินที่เปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น ผื่นแพ้ อาเจียน อาการท้องเสีย และพฤติกรรมแปลกๆ ของลูกน้อย ล้วนเป็นสัญญาณที่บอกคุณแม่ได้ว่า ลูกกำลังไม่สบายหรือไม่

การเล่นสนุกของลูกน้อย
ควรเข้าร่วมกลุ่มหรือคลาสออกกำลังกาย เช่น กลุ่มนวดบริหารให้ลูกน้อย กลุ่มออกกำลังกายของคุณแม่ หรือแก๊งรถเข็นเด็ก เพื่อให้ทั้งคุณแม่คุณลูกได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบ้าง อย่าเข้าใจผิดว่าการใช้เวลากับลูกอย่างคุ้มค่าหมายถึงการเล่นกับลูกแบบไม่หยุดพักเลย เพราะแท้จริงแล้ว เจ้าตัวน้อยก็สามารถเรียนรู้และเพลิดเพลินกับการใช้เวลาเงียบๆ พักผ่อนสบายๆ เพียงลำพังได้เช่นกัน หากลูกรักดูมีความสุขดีและไม่มีท่าทีอยากกินอาหารหรืองีบหลับ ก็ลองให้เขาได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง หรือจ้องมองของเล่นอย่างเพลิดเพลิน การปฏิบัติเช่นนี้นับเป็นทักษะสำคัญที่เริ่มต้นในวัยเด็ก และจะติดตัวเขาไปตลอด

สิ่งที่คุณแม่ควรทำ
หากคุณแม่รู้สึกเบื่อๆ ลองหาหนังสืออ่าน หรือทำกิจกรรมสบายๆ อย่างการฟังเพลง สมัครเป็นสมาชิกนิตยสารหรือจดหมายข่าวต่างๆ เพื่อติดตามข่าวสารของโลกภายนอก บางครั้งคุณแม่อาจทุ่มเทความสนใจให้ลูกน้อยเป็นอันดับหนึ่ง จนกระทั่งเรื่องอื่นกลายเป็นเรื่องรองไปหมด จริงอยู่ว่าความคิดเช่นนี้ถูกต้องดีแล้ว แต่ก็ต้องใส่ใจความต้องการของตัวเองด้วยเช่นกัน

ภาวะอารมณ์ของคุณแม่
คุณแม่อาจเริ่มถามตัวเองว่า เมื่อใดควรมีน้องให้เจ้าตัวเล็กสักคนดี แม้จะยังไม่ได้ตัดสินใจว่าต้องเป็นเมื่อใดแน่นอนก็ตาม แต่คุณแม่อาจทบทวนถึงช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา และถามตัวเองดูว่า ต้องการมีลูกอีกคนหรือไม่ ยังไม่มีการกำหนดว่าลูกแต่ละคนควรจะอายุห่างกันเท่าไรถึงจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากปัจจัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว

การนอนหลับของคุณแม่

หากลูกน้อยเริ่มนอนหลับนานขึ้นในเวลากลางคืน คุณแม่ก็จะได้หลับเต็มตื่นมากขึ้น หากคุณแม่รู้สึกว่า แทบจะลืมตาไม่ขึ้นทั้งๆ ที่พึ่งสองทุ่ม นั่นหมายความว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ คุณแม่บางรายอาจรู้สึกอ่อนล้ามากในช่วงนี้ และคิดไปว่าเหนื่อยจากการเลี้ยงดูลูก แต่ถ้าคุณยังรู้สึกว่าเหนื่อยล้าอยู่แม้จะนอนหลับอย่างเพียงพอแล้ว ให้ลองปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์และภาวะฮอร์โมนขาดสมดุล เพราะอาการเหนื่อยล้าอย่างรุนแรงก็เป็นหนึ่งในอาการของโรคดังกล่าวเช่นกัน

ความสัมพันธ์ของคุณแม่
หากคุณพ่อน้อยใจว่าคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ ลองชวนคุณพ่อมาช่วยกันดูแลลูกน้อยบ้าง การทุ่มเทให้กับการเลี้ยงลูกจนลืมใส่ใจและมองข้ามความดีของคนรอบข้างนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ดังนั้น อย่าลืมถอยหลังมาสักก้าว และไม่ต้องทำตัวเป็นคุณแม่ผู้เชี่ยวชาญตลอดเวลา ลูกน้อยจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อได้รับความรัก ความเอาใจใส่ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างหลายๆ คน แม้เจ้าหนูน้อยจะพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดในเบื้องต้นกับคนที่เป็นผู้ดูแลหลักๆ เท่านั้นก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่า การเลี้ยงเด็กสักคนนั้น ต้องอาศัยผู้ใหญ่หลายคนเป็นต้นแบบ ดังคำกล่าวของฝรั่งที่ว่า “It takes a village to raise a child.”

บทความที่คุณน่าจะชอบ

พัฒนาการลูกน้อย 4/27/2019

ลูกน้อยวัย 2 เดือน

ลูกน้อยวัย 2 เดือน

พัฒนาการลูกน้อย 4/27/2019

ลูกน้อยวัย 1 เดือน

ลูกน้อยวัย 1 เดือน

เลือกผ้าอ้อมเด็กอย่างไรป้องกันไม่ให้ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม
Diapers Tips 4/26/2019

เลือกผ้าอ้อมเด็กอย่างไรป้องกันไม่ให้ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม

เป็นปัญหาผิวสำหรับลูกเล็กที่ยังใส่ผ้าอ้อมเด็ก ซึ่งคุณแม่ทุกคนไม่อยากให้เกิดปัญหานี้ เพราะผื่นผ้าอ้อมจะทำให้ผิวลูกเป็นผื่นแพ้ ผื่นแดง อักเสบ ทำให้ลูกไม่สบายตัว ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลไปถึงอารมณ์ของลูก เขาจะไม่ร่าเริง งอแง ไม่อยากขยับตัวเคลื่อนไหวจนทำให้พัฒนาการไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควรค่ะ

บทความที่คุณน่าจะชอบ